วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประวัติของภาษามลายู (Sejarah Bahasa Melayu)

ภาษานับเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ใช้เป็นสื่อกลาง เพื่อสื่อความคิด ความรู้สึก ความต้องการ ดังนั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและแจ่มแจ้งชัดเจนของผู้ฟัง ผู้ใช้ภาษานั้นควรจะต้องใช้ภาษาที่ถูกต้องดังคำกล่าวว่า ‘พูดให้เป็นภาษา’ คือใช้ภาษาให้ถูกต้องนั้นเองและในทางตรงกันข้ามถ้าใครใช้ภาษาไม่ถูก เราก็จะได้ยินคำตำหนิว่า ‘พูดไม่เป็นภาษา’ หรือ ‘เขียนไม่เป็นภาษา’ อย่างนี้เป็นต้น
มนุษย์ในโลกนี้มีหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ แต่ละชาติพันธุ์นั้นล้วนมีประวัติศาสตร์เฉพาะตนแทบทั้งสิ้น ซึ่งนับเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะตนตามมา ภาษานับเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ดังนั้น ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการกำเนิดภาษาของแต่ละภาษาในโลกนี้ย่อมมีลักษณะเฉพาะตนด้วยควบคู่ขนานกันไปพร้อมๆ กับวิวัฒนาการของวัฒนธรรมชนชาติที่เป็นเจ้าของ
ภาษามลายูเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมลายู ดังนั้นถึงแม้ยังไม่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดของภาษามลายูอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ยังพอที่จะเดาอายุของภาษามลายูได้ว่าคงมีมาไม่น้อยกว่า ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชนชาติมลายูเป็นแน่
ภาษามลายูเป็นภาษาในตระกูลภาษามเลโย-โพลิเนเซียน (MaLayo Polynesian) หรือ ออสโตรเนเซียน (Austronesian) แขนงภาษาสุมาตรา ซึ่งจัดอยู่ในสาขาภาษาหมู่เกาะมลายู (“Nusantara”) ดังนั้นภาษามลายูจึงเป็นเพียงหนึ่งในจำนวน 200 ภาษาที่มีอยู่เท่านั้นเอง
เดิมนั้นมีผู้คนใช้ภาษามลายูจำนวนไม่มาก คือ เป็นภาษาของผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบคาบสมุทรมลายู หมู่เกาะเรียว และสุมาตราใช้กัน แต่ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า ภาษามลายู เป็นภาษาสื่อกลาง (lingua franca) ในบริเวณหมู่เกาะมลายูมานานแล้ว เกี่ยวกับเรื่องนี้ อิสมาอิล หามิด ได้สรุปว่า ‘ภาษามลายู’ นั้นเริ่มสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตนเองมาตั้งแต่ได้มีการก่อตั้งราชอาณาจักรมลายูที่เมือง “ฌัมบี” (Jambi) ในสุมาตรา (Sumatra) ซึ่งตามหลักฐานจีนบันทึกว่า ราชอาณาจักรมลายูฌัมบีนี้เคยส่งทูตสันทวไมตรีไปยังพระเจ้ากรุงจีน เมื่อราว ค.ศ. 644 หลักฐานนี้คงจะสะท้อนความหมายว่าอาณาจักรมลายูในสมัยนั้นย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองถึงระดับนานาชาติแล้ว ภาพพจน์และความเป็นที่ยอมรับของภาษามลายูในสังคมยุคนั้นคงมีมากและมีระดับที่ไม่ด้อยไปกว่าสถานภาพของราชอาณาจักรที่เป็นเจ้าของเป็นแน่
ในสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรืองนั้น ภาษามลายูเป็นภาษาสื่อกลาง (medium) ในการสอนภาษาสันสกฤตและสอนปรัชญาทางศาสนาพุทธ และเป็นภาษาสื่อกลางของผู้คนซึ่งตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในบริเวณหมู่เกาะมลายู ตลอดจนผู้คนต่างชาติที่มาเยือน เช่น พวกพ่อค้าวาณิชจากยุโรปและตะวันออกกลาง รวมทั้งพวกสัญจรไปมาจากอินเดียและจีนด้วย
ภาษามลายูในยุคต้นนั้นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียและลัทธิฮินดูมาก ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่าศาสนาฮินดูได้ผนวกเข้าไปในสังคมของหมู่เกาะมลายูตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรมลายูฮินดูคือ ราวคริสตวรรษที่ 1 และวัฒนธรรมอินเดียเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในหมู่เกาะแห่งนี้เมื่อราวๆคริสตวรรษที่ 4 จึงไม่น่าแปลกเลยว่าทำไมวัฒนธรรมอินเดียจึงมีอิทธิพลและมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของชนชาติในอาณาบริเวณหมู่เกาะมลายู ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ ที่เป็นฮินดูนี้มาก อีกประการหนึ่งคือชนชั้นปกครองนี้นิยมใช้ภาษาสันสกฤตในชีวิตประจำวัน ประจวบกับภาษาสันสกฤตเป็นภาษาคัมภีร์พระเวทย์ที่ผู้นับถือศาสนาฮินดูต้องศึกษา จึงทำให้ภาษาสันสกฤตถูกนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนเหล่านั้นอย่างแพร่หลาย และมีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของบทบาทภาษามลายูต่อมา ดังเช่นคำกล่าวของ อิสมาอีล หุสเส็นว่า
“…melalui pengaruh bahasa Sansekerit bahasa Melayu mengalami evolusinya yang pertama… Dari bahasa masyarakat yang agak rendah kebudayaan serta ilmu pengetahuannya, bahasa Melayu mengalami perubahan pertama ke arah bahasa sarjana yang sanggup menyampaikan idea baharu yang tinggi-tinggi.”
อิทธิพลของภาษาสันสกฤตที่มีต่อภาษามลายูที่สำคัญนั้นคืออิทธิพลในการใช้คำโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำศัพท์ที่ใช้ในทางวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งแบ่งออกเป็นสาขาต่างๆ เช่น ชื่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย ศัพท์ในวงการค้า ชื่อสิ่งของ ชื่อสัตว์ พืชต่างๆและอาวุธ คำที่ใช้ในทางศาสนา คำศัพท์วิชาการ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น
a) ชื่ออวัยวะของร่างกาย : “bahu” (บ่า, ไหล่), “kepala” (ศรีษะ), “muka” (ใบหน้า), “rupa” (รูปร่างหน้าตา)
b) ศัพท์ในวงการค้า : “laba” (กำไร), “kedai” (ร้านค้า), “kodi” (กุลี)
c) ชื่อสิ่งของ : “jala” (แห), “penjara” (ที่คุมขัง), “sutera” (ไหม)
d) ศัพท์ในทางวิชาการ : “guru” (ครู), “bahasa” (ภาษา), “sastera” (วรรณกรรม)
e) ชื่อสัตว์ : “gajah” (ช้าง), “singa” (สิงห์), “angsa” (ห่าน), “serigala” (สุนัขจิ้งจอก), “kuda” (ม้า)
f) ชื่อพืช : “biji” (เมล็ด, เม็ด), “cempaka” (จำปา), “cendana” (จันทน์), “delima” (ทับทิม)
g) ชื่ออาวุธ : “cemeti” (แส้), “sauku” (แส้)
h) ศัพท์ทางศาสนา : “dosa” (บาป), “surga” (สวรรค์), “neraka” (นรก), “agama” (ศาสนา), “puasa” (ถือศีลอด)

แม้แต่ในเรื่องของการใช้อักษร อัร.โอ. วินสเตดท (R.O. Winstedt) กล่าวว่า พวกมลายูในยุคฮินดูนั้นเขียนภาษามลายูด้วยอักษรกาวี และเทวนาครี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอักษรปัลวะ (Palava)
ความนิยมของคนในหมู่เกาะมลายูที่มีต่อภาษาสันสกฤตในยุคหนึ่งนั้นนับได้ว่าสูงมากทีเดียวดังคำยืนยันของฆอนดา (Gonda) ว่า :
“…it rendered Sanskrit compounds by prephrastic combinations, in contradistinction to old Javanese which, though very poor in compounds itself, welcomed them body and bonds, and to modern Indonesian (=Malaysian) idioms which, in a manner, are able to give part of them a place in their own system. Whereas many Indonesian (= Malaysians) are proud of the beautiful Sanskrit appellations their bear…”

หลังจากอาณาจักรศรีวิชัยแล้วหมู่เกาะมลายูก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์อาณาจักรมัชปาหิต ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะชวา ในยุคนี้ภาษาชวาจึงมีบทบาทสำคัญมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุให้ภาษามลายูต้องตกอับ เพราะอาณาจักรมลายูที่ฌัมบี (Jambi) ในสุมาตรายังใช้ภาษามลายูเป็นภาษาของทางราชการอยู่ ถึงแม้นว่าจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรมัชปาหิต (Majapahit) ก็ตาม
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาษามลายูไม่เสื่อมไปจากความนิยมก็เพราะว่า ภาษามลายูมีคุณลักษณะที่ง่ายแก่การนำไปใช้ มีโครงสร้างง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อนมากจนเกินไป มีความสะดวกและสามารถนำไปปรับใช้กับภาษาอื่นๆ ได้ดีกว่า จึงทำให้ภาษามลายูมีบทบาทในสังคมของชนชาติที่อาศัยอยู่ในบริเวณหมู่เกาะมลายู และเพียงเวลาอันสั้นเท่านั้น ภาษามลายูสามารถมีบทบาทเหนือกว่าภาษาชวาและภาษาบาตัก (Batak) ดังคำกล่าวของ อิสมาอีล หุสเส็นว่า :
“… oleh sebab bentuknya yang amat sederhana dan kemungkinannya menerima segala unsur luar dan sifatnya yang dapat dibentuk buat segala keperluan maka menjadilah bahasa Melayu satu bahasa yang terpenting dalam sejarah bahasa-bahasa di Kepulauan Melayu… dengan sendirinya menjadi bahasa perantaraan bagi berbagai-bagai bangsa dan suku yang mengharungi lautan Kepulauan Melayu dari abad ke abad. Dalam masa yang singkat sahaja bahasa Melayu dapat menguasai bahasa-bahasa daerah yang lebih maju seperti bahasa Jawa dan bahasa Batak.”
และเพราะคุณสมบัติเหล่านี้เอง นักวิชาการชาติตะวันตกจึงได้ให้ความสนใจและมุ่งทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาษาและวรรณกรรมมลายู
เมื่ออำนาจของมัชปาหิตเสื่อมลงอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียก็เสื่อมถอยลงตามด้วยเป็นธรรมดา ชนชาติต่างๆในหมู่เกาะมลายูในช่วงนี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของกษัตริย์มลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่อาณาจักรมลายูที่ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมะละกา คือตั้งแต่คริสตวรรษที่ 13 นั้น ภาษามลายูเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดก็ว่าได้ และในระยะนี้เองที่ศาสนาอิสลามได้แผ่ขยายเข้าสู่สังคมของชนชาติในบริเวณคาบสมุทรมลายูอย่างรวดเร็ว จนสามารถเข้าไปแทนที่อิทธิพลของวัฒนธรรมฮินดู-พุทธได้สำเร็จ ผลจากการเข้ามาของศาสนาอิสลามในช่วงนี้ทำให้มีการใช้อักษรอาหรับ (อักษรที่เขียนในพระมหาคัมภีร์กุรอาน) ในการเขียนภาษามลายูที่เรียกว่า ‘อักษรยาวี’ (Jawi Scripts) แทนอักษรกาวี และเรนจง พร้อมกันนั้นก็รับเอาคำภาษาอาหรับที่ให้ความหมายทางธรรมเนียมอิสลามด้วย และที่สำคัญยิ่งคือเป็นช่วงที่ภาษามลายูได้วิวัฒนาการเข้าสู่ระดับภาษาแห่งวรรณกรรม และมีความเป็นภาษาศิลป์ (วรรณกรรมมลายูเริ่มมีการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อหลังคริสตวรรษที่ 14)
อำนาจของอาณาจักรมลายูมะละกาได้สิ้นสุดลงด้วยฝีมือของโปรตุเกส เมื่อค.ศ. 1511 หลังจากนั้นก็มีอาณาจักรมลายูยะโฮร์-เรียว (Jahor-Riau) ตามมา ตามความสำคัญและความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรนี้ได้ทำให้ภาษามลายูเจริญรอยตามและนำไปสู่ความเป็นเอกภาพทั่วหมู่เกาะมลายู
ก่อนที่อังกฤษไปตั้งหลักแหล่งและสร้างฐานอำนาจในคาบสมุทรมลายูนั้น ปรากฏว่าได้มีการใช้ภาษามลายูในวงการที่สำคัญๆกันอย่างกว้างขวาง เช่นในการบริหารงานของศูนย์กลางการปกครองเมือง ราชสำนัก และเป็นสื่อ (medium) ในการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ซึ่งในขณะนั้นก็มีศูนย์การศึกษาศาสนาอิสลามด้วยแล้ว นอกจากนี้ก็เป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนที่อาศัยอยู่ตามเมืองที่เป็นศูนย์กลางใหญ่ๆ เช่น ที่มะละกา ปีนังและสิงคโปร์
มาถึงสมัยที่อังกฤษปกครองมลายู (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) นั้นก็ใช้ภาษามลายูในการติดต่อราชการ สำหรับพวกเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าวนี้ก็มีการบังคับให้เรียนและจะต้องสอบวิชาภาษามลายูให้ผ่านก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งด้วย เจ้าหน้าที่เหล่านี้บางคนได้กลายเป็นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษามลายูที่มีชื่อเสียงในระยะต่อมาด้วย เช่น R.O. Winstedt, J.R. Wilkinson, C.C. Brown, W.E. Maxwell, W. Marsden, W.G. Shellabear, และ J. Crawfurd.
ภาษามลายูถูกทำลายศักดิ์ศรีอย่างมากเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ เมื่อเจ้าหน้าที่อังกฤษที่มาจากฝ่ายทหารเข้าไปเป็น ‘เจ้า’ ปกครองแผ่นดินซึ่งปรากฏว่าไม่เพียงแต่ภาษามลายูเท่านั้นที่ถูกทำลาย หากวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศก็ถูกทำลายด้วยเช่นกัน ภาษามลายูในสมัยนั้นมีฐานะเป็นภาษาของชนชั้นต่ำ และใช้เป็นภาษาในการเรียนการสอนเฉพาะในโรงเรียนระดับต้น และโรงเรียนอาหรับ ส่วนพวกชนชั้นสูงจะใช้ภาษาอังกฤษ และแม้แต่ในรัฐต่างๆที่อยู่ในสหพันธรัฐ (Federated Malay States) ก็ใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่องานราชการด้วย
งานวรรณกรรมที่เขียนขึ้นในช่วงนี้จึงเป็นผลงานของพวกปัญญาชนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนมลายู หรือโรงเรียนอาหรับ
ในยุคสมัยนี้เองภาษามลายูจึงเริ่มมีความสัมพันธ์กับภาษาของชาติตะวันตก โดยมีการยืมคำโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ นอกจากนั้นก็มีการับเอาภาษาจีน ทมิฬ อาหรับ และเปอร์เซียด้วย
เกี่ยวกับการยืมคำต่างชาติเข้าไปใช้ในภาษามลายูนั้น อิสลมาอีล หุสเส็น กล่าวว่า ไม่ได้ทำให้ลักษณะแห่งความเป็นมลายูต้องสูญไปโดยสิ้นเชิง เพราะคำเหล่านั้นถูกปรับใช้ให้เป็นไปตามเสียงและลักษณะโครงสร้างของคำในภาษามลายู การยืมในลักษณะนี้ทำให้เกิดความกลมกลืนกันมากจนคนรุ่นใหม่ไม่รู้สึกแปลกแต่อย่างใด และบางคำก็แยกไม่ออกว่าคำไหนมาจากคำของชาติใดบ้าง เพราะรับการสืบทอดจากบรรพบุรุษมาหลายรุ่น

คำนาม(Kata Nama)

คำนาม (Kata Nama) หมายถึง คำที่ใช้เรียกชื่อ คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ หรือนามธรรม
เราสามารถจำแนกประเภทของคำนามออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
1.คำนามทั่วไป (Kata Nama Am) หมายถึง นามที่ใช้เรียกคน สัตว์ และสิ่งของ ทั้งประเภทของสิ่งนั้นๆ ไม่ได้เจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่งมากนัก เมื่อเขียนคำนามทั่วไปจะเขียนด้วยตัวพิมพ์เล็ก
ตัวอย่างคำ
pensel(ดินสอ) perkataan(คำ) ucapan(คำกล่าว)
pemadam(ยางลบ) tulisan(งานเขียน) jam(นาฬิกา)
buku(หนังสือ) komputer(คอมพิวเตอร์) pengetahuan(ความรู้)

ตัวอย่างประโยค (Contoh Ayat)
1. Ali membaca buku. (อาลีอ่านหนังสือ)
2. Bapa saya akan ke luar negeri. (พ่อของฉันจะไปต่างประเทศ)
3. Kucing sedang mengejar tikus. (แมวกำลังไล่หนู)

2. คำนามเฉพาะ (Kata Nama Khas) หมายถึงนามที่จำกัดแคบลงไปว่าเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ คำนามประเภทนี้เขียนด้วยอักษรตัวใหญ่ (huruf besar) เสมอ
ตัวอย่างคำ (Contoh Perkataan)
Abdullah (ชื่อคน) Si Comel (ชื่อแมว) Proton Wira (ชื่อรถ)
Ahad (ชื่อวันอาทิตย์) Mac (ชื่อเดือนมีนาคม) Universiti Thaksin (ชื่อสถาบัน)
ตัวอย่างประโยค (Contoh Ayat)
1. Kota Bharu ialah ibu negeri Kelantan. (โกตาบารูเป็นเมืองหลวงของรัฐกลันตัน)
2. Encik Sufian sudah tiba dari Bangkok. (คุณซูเฟียนเพิ่งกลับมาจากกรุงเทพ)
3. Mereka belajar di Universiti Thaksin. (พวกเขาเรียนที่มหาวิทยาลัยทักษิณ)

3. คำสรรพนาม (Kata Ganti Nama) หมายถึง คำที่ใช้แทน คำนาม เพื่อเลี่ยงการซ้ำคำนาม
ตัวอย่าง (Contoh)
1. a. Encik Ahmad hendak ke mana? (ชื่อจริง)
b. Awak hendak ke mana? (คำสรรพนาม)
2. a. Cikgu Kamarudin ada di bilik guru. (ชื่อจริง)
b. Beliau ada di bilik guru. (คำสรรพนาม)

ชนิดของคำสรรพนามในภาษามลายู สามารถแบ่งออกได้ 3 ชนิด
สรรพนามรูปประธาน (Kata Ganti Nama Diri) หมายถึง คำที่ใช้แทนนามที่เป็นบุคคล สัตว์ สิ่งของ ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 ชนิด
สรรพนามบุรุษที่ 1 (Kata Ganti Nama Diri Orang Pertama) ได้แก่ สรรพนามที่ใช้แทนผู้พูด
สรรพนามบุรุษที่ 2 (Kata Ganti Nama Diri Orang Kedua) ได้แก่ สรรพนามที่ใช้แทนผู้ฟัง
สรรพนามบุรุษที่ 3 (Kata Ganti Nama Diri Orang Ketiga) ได้แก่ สรรพนามที่ใช้แทนผู้ที่อ้างถึง
คำสรรพนามบุรุษที่ 1
เอกพจน์
saya (ฉัน), aku (กู, ข้า), hamba (ข้า, บ่าว), patik (ข้าพระพุทธเจ้า), beta (ข้าพเจ้า)
พหูพจน์
kita (เรา), kami (เรา)
คำสรรพนามบุรุษที่ 2
เอกพจน์
engkau (เธอ), awak (แก), kamu (เธอ), anda (คุณ), saudara (คุณ), saudari (คุณ), cik (คุณ(หญิง)), encik (คุณ(ชาย)), tuan (ท่าน(ชาย)), puan (ท่าน(หญิง)), Tuanku (เจ้าข้า)
พหูพจน์
puan-puan (ท่านทั้งหลาย (หญิง)), tuan-tuan (ท่านทั้งหลาย (ชาย)), saudara-saudari (คุณทั้งหลาย(ชาย,หญิง))
คำสรรพนามบุรุษที่ 3
เอกพจน์
dia (เขา, หล่อน), ia (มัน), beliau (ท่าน), baginda (พระองค์ท่าน)
พหูพจน์
mereka (เขาทั้งหลาย)

ตัวอย่างประโยค (Contoh Ayat)
1. Saya sedang belajar. (ฉันกำลังเรียน)
2. Kamu membaca buku. (เธออ่านหนังสือ)
3. Dia ayah kawan saya. (เขาเป็นพ่อเพื่อนฉัน)

ปฤจฉาสรรพนาม (Kata Ganti Nama Diri Tanya) หมายถึง สรรพนามแสดงคำถาม ได้แก่ apa, siapa, bila, bagaimana, mana, berapa, kenapa, mengapa, dari mana, ke mana
ตัวอย่างประโยค (Contoh Ayat)
1. Siapa yang datang tadi? (ใครที่มาเมื่อกี้)
2. Bagaimana saya hendak ke sana? (ฉันจะไปที่นั้นได้อย่างไร)
3. Mengapa datang lambat? (ทำไมถึงมาสาย)

นิยมสรรพนาม (Kata Ganti Nama Tunjuk) หมายถึง สรรพนามที่ชี้เฉพาะ ได้แก่ ini และ itu
Ini ใช้แทนนามซึ่งได้แก่สิ่งของหรือบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวผู้พูด เช่น
Ini kawan saya. (นี่เพื่อนฉัน)
Itu ใช้แทนนามซึ่งได้แก่สิ่งของหรือบุคคลที่อยู่ไกลตัวผู้พูด เช่น
Itu kerusi. (นั้นเก้าอี้)